ลายเซ็นของ Jayhawks

19 02 2007

rainy.gif

 วัฒนธรรมดนตรีของโลกเลื่อนไหล ผันแปรไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อวานอาจเป็นวันของร็อก เฮฟวี่เมทัล อัลเทอร์เนทีฟ วันนี้อาจเป็นวันของแร็พ ฮิพฮอพ ชิลล์ เอาต์ การาจ ร็อก ไปจนถึง อีเล็กโทรแคลชแต่วันพรุ่งนี้กระแสดนตรีโลกจะพุ่งไปทางไหนเหลือจะคาดเดา ร่ำๆว่าดนตรียุค 70 กำลังจะกลับมาเป็นเทรนด์ใหม่เสียด้วยซ้ำไป

กล่าวอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแนวไหน กาลเวลาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ของจริง” เท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้

ของจริงที่ว่านี้ไม่จำกัดรุ่น ไม่จำกัดเพศหรือวัย อยู่ที่ว่ามี “ตัวตน” ที่แท้หรือไม่ สามารถปรุงแต่งความเป็นตัวเองเข้ากับยุคสมัยได้หรือไม่เท่านั้น

ใครคนไหนมี “ลายเซ็น” ของตัวเองก็มักจะอยู่ยั้งยืนยง เป็นศิลปินที่ “ตายยาก” อยู่เสมอ

วงดนตรีที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็น “คันทรี่ร็อก ทางเลือก” อย่าง The Jayhawks น่าจะเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนที่สุด

The Jayhawks ก่อตั้งวงขึ้นมาเมื่อเดือนก.พ.ปี 1985 แกนหลักสำคัญของวงคือ มาร์ก โอลสัน อดีตมือเบสมากฝีมือของวงสแตกเกอร์ ลี ในมินนิอาโปลิส,มินเนโซต้า ส่วนสมาชิกรุ่นก่อตั้งคือ มาร์ก เพิร์ลแมน (กีตาร์),นอร์ม โรเจอร์ส (กลอง) และสมาชิกสำคัญอีกคนคือ แกรี่ ลูริส อดีตมือกีตาร์และนักแต่งเพลงฝีมือดีจากวงเซฟตี้ ลาสต์

The Jayhawks เป็นวงดนตรีคันทรี่ ร็อกผสมผสานกับอะคูสติก พ็อพที่มีสำเนียงเป็นของตัวเอง มีอิทธิพลของ บ็อบ ดีแล่น,นีล ยังแผ่ซ่านอยู่

ท่ามกลางท่วงทำนองอันไพเราะ รื่นหู มีเสียงประสานอันกลมกลืน และยังแฝงเร้นไปด้วยเนื้อหาคมคาย มีลายกวีซุกซ่อนอยู่ประปราย

ภายใต้การทำงานของคู่หู “โอลสัน-ลูริส” ทำให้ The Jayhawks เป็น “เสียงใหม่” แห่งวงการคันทรี่ร็อก

แม้ไม่โด่งดัง โครมคราม แต่ก็มีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่น

ก่อนจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างกับอัลบั้มชุดที่ 4 Tomorrow The Green Grass เมื่อปี 1995 ซึ่งมีซิ้งเกิ้ลเด่นอย่าง Blue และการนำเอาเพลงเก่าที่เคยฮิตระเบิดอย่าง Bad Time มาทำใหม่ในลีลาของตัวเอง

ก่อนหน้าที่จะมาโด่งดังกับ Tomorrow The Green Grass นั้น The Jayhawks มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกแบบผลัดกันเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา

แต่ครั้งไหนก็ไม่สะเทือนเท่ากับตอนที่โอลสันตัดสินใจไขก็อกลาหลังอัลบั้ม Tomorrow The Green Grass

ทำให้ภาระผู้นำต้องตกเป็นของลูริสอย่างเต็มตัว

แม้จะเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงรวมทั้งนักร้องเสียงดีอยู่ในตัว แต่ลูริสก็แสดงให้เห็นว่าการขาดหายไปของโอลสัน ทำให้ความเป็น The Jayhawks เป๋ไปไม่น้อยเลย

สังเกตได้จากอัลบั้ม 2 ชุดถัดมาคือ Sound Of Lies (1997) และ Smile (2000) มีสำเนียงที่ผิดที่ผิดทางอยู่มาก

โดยเฉพาะอัลบั้ม Smile หันไปใช้ Bob Ezrin อดีตโปรดิวเซอร์ของศิลปินอย่าง อลิซ คูเปอร์,คิสส์,ลู รี้ดและปีเตอร์ เกเบรียล ทำให้เพลงในอัลบั้มดังกล่าวมีกลิ่นที่แปลก แปร่งออกไปอยู่มาก

แต่อัลบั้มชุดที่ 7 Rainy Day Music (2003) เป็นการกลับคืนสู่รากเหง้าอีกครั้ง

The Jayhawks แม้จะกลายสภาพเป็นวงทริโอ (แกรี่ ลูริส,ทิม โอ’เรแกน,มาร์ก เพิร์ลแมน) แต่การเลือกใช้เพื่อนพ้องนักดนตรีฝีมือเยี่ยม และมีความเป็น “พวกเดียวกัน” ใน Rainy Day Music  กระทำได้อย่างเหมาะเจาะ จนก่อเกิดเป็น “เดอะ ทีม” ชั้นเยี่ยม

Rainy Day Music จึงฟุ้งไปด้วยเสียงอันคุ้นเคย มีความเป็นคันทรี่ ร็อกที่รื่นหู เนื้อหาคมคายและหลากหลาย เสียงประสานอันสุดยอด

ที่สำคัญก็คือมี”กลิ่น” ความเป็นบริติช พ็อพลอยวนกลายเป็น “เสียงใหม่” อันทำให้เป็นงานที่ไม่เชย ตกรุ่นได้อย่างน่าทึ่ง

Rainy Day Music นำพาผู้ฟังไปสู่คืนวันเก่าๆที่งดงาม มีสำเนียงของ The Eagles และ Crosby Stills&Nash อบอวลอยู่ และความเชื่อมโยงที่เห็นได้ชัดก็คือการได้เบอร์นี่ ลีด้อน อดีตสมาชิกของ The Eagles มาเล่นแบนโจให้ในเพลง Tailspin มีคริส สตีลล์ส (บุตรชายของสตีเฟ่น สติลล์ส) และจาค็อบ ดีแลน (ลูกชายของบ็อบ ดีแลน) มาร่วมร้อง แถมยังมีขาใหญ่ในแวดวงอย่าง แม็ตธิว สวีต (The Thorns) มาร่วมร้องและแต่งเพลงให้อีกด้วย

เพลงทั้งหมด 3 สมาชิกที่เหลืออยู่ของวงร่วมกันรับผิดชอบโดยมีแกรี่ ลูริสที่ออกจะโดดเด่นกว่าเพื่อน ผลที่ได้ก็คือทั้งอัลบั้มมีความกลมกลืน เป็นเนื้อเดียว กลิ่นเดียวกันอย่างน่าประหลาด

ผลงานของลูริสอย่าง Tailspin และ Save For A Rainy Day นอกจากจะฟังได้รื่นหู ชนิดครั้งเดียวก็ “โดน” แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงทัศนคติในการมองโลกในแง่งาม ไม่ยอมให้ชีวิตตัวเองต้องถดถอยของลูริสอีกด้วย

ส่วน Eyes of Sarahjane และ Angelyne เป็นการเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ตรงที่ฟังแล้วสามารถนึกตามจนเห็นภาพ

ในขณะที่ Stumbling Through The Dark (ลูริสแต่งร่วมกับแม็ตธิว สวีต) สวยงามและเข้าขาราว “เกล็น ฟราย-ดอน เฮนลีย์” ประมาณนั้น

สำหรับ Don’t Let The World Get In You Way และ Tampa To Tulsa ของทิม โอ’รีแกน และ Will I See You In Heaven ของมาร์ก เพิร์ลแมนดู คมคายและมีชั้นเชิงพอตัวทีเดียว

เมื่อตอนออกวางขายใหม่ๆนิตยสารโรลลิ่ง สโตนรายงานว่าอัลบั้ม Rainy Day Music หลังจากออกวางขายก็ทะยานขึ้นไปอยู่อันดับที่ 51 ในตารางบิลล์บอร์ด

แม้จะดูเป็นอันดับที่ “ธรรมดา” มากถ้านำไปเทียบกับโคตรศิลปินแห่งยุคอย่าง Linkin Park หรือ Radiohead แต่นี่คืออันดับสูงสุดเท่าที่ทางวงเคยได้รับมา

ดูเหมือนว่าการกลับคืนสู่ตัวตนดั้งเดิมของตัวเอง และผลิตงานในลักษณะ Less is more

คือสิ่งที่ The Jayhawks น่าจะทำมานานแล้ว

แม้ว่าจนถึงปัจจุบัน The Jayhawks จะยังไม่มีอัลบั้มใหม่ออกมา แต่ยังวนเวียนอยู่ในวงการเหมือนเดิม
 และเมื่อมองย้อนกลับไป Rainy Day Music คืออัลบั้มที่ยังอยู่ในใจใครหลายคน